วันจันทร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

 ข้อกำหนดทางกฎหมายที่ควรทราบเกี่ยวกับการประกาศกฎอัยการศึก
      ตามที่กองทัพบกโดยผู้บัญชาการกองทัพบกได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช 2457 ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 เวลา 03.00 น. เป็นต้นไป พร้อมทั้งได้จัดตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) เพื่อทำหน้าที่ในการป้องกัน ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขสถานการณ์ที่ ส่งผลกระทบต่อความเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ ตลอดจนมีอำนาจบังคับใช้กฎหมายทุกมาตราใน พ.ร.บ.กฎอัยการศึกฯ นั้น

       การประกาศกฎอัยการศึกดังกล่าวมีข้อกำหนดทางกฎหมายที่ประชาชนทั่วไปควรทราบอยู่หลายประการ ดังนี้

 ● ระหว่างการประกาศกฎอัยการศึก ทหารเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการยุทธ การ  ระงับ ปราบปราม การรักษาความสงบเรียบร้อย โดยข้าราชการฝ่ายพลเรือนต้องปฏิบัติตามคำสั่ง  ของทหาร (มาตรา 6)

 ● ระหว่างการประกาศกฎอัยการศึก ทหารมีอำนาจดังต่อไปนี้

                ตรวจค้นสิ่งของต้องห้าม หรือต้องยึด หรือมีไว้ในครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้  ไม่ว่าจะเป็นการค้นตัวบุคคล ยานพาหนะ เคหะสถาน สิ่งปลูกสร้าง หรือสถานที่ใด ๆ และไม่ว่า  ในเวลาใด ๆ ก็ตาม (มาตรา 9 (1))
                ตรวจข่าวสาร หนังสือ สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ (มาตรา 9 (2) และ (3))
                เกณฑ์พลเมืองให้ช่วยในกิจการทหาร รวมทั้งเกณฑ์ยานพาหนะ อาหาร อาวุธ เครื่องมือ  เครื่องใช้ต่าง ๆ (มาตรา 10)
                ห้ามประชาชนกระทำการต่าง ๆ เช่น ห้ามมั่วสุม ห้ามโฆษณา ห้ามใช้เส้นทางสาธารณะ ห้าม  ออกนอกเคหะสถาน เป็นต้น (มาตรา 11)
                ยึดทรัพย์สินที่ได้จากการตรวจค้น จากการเกณฑ์ และทรัพย์สินที่เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามต่าง ๆ  ดังที่กล่าวมาข้างต้น (มาตรา 12)
                เข้าพักอาศัยในสถานที่ที่ทหารเห็นว่าจำเป็นเพื่อประโยชน์ในราชการ (มาตรา 13)
                กักตัวบุคคลที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นผู้ฝ่าฝืนกฎอัยการศึกหรือฝ่าฝืนคำสั่งทหาร เป็นเวลา  ไม่เกิน 7 วัน (มาตรา 15 ทวิ)

          ทั้งนี้ โดยบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการใช้อำนาจของทหารดังที่กล่าวมานั้นไม่สามารถฟ้องเรียก ค่าเสียหายหรือค่าปรับจากทหาร ไม่ว่าด้วยกรณีใด ๆ (มาตรา 16)


          อนึ่ง แม้ว่าการประกาศใช้กฎอัยการศึกจะสามารถกระทำได้โดยฝ่ายทหารก็ตาม แต่การเลิกใช้กฎอัยการศึกจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีประกาศกระแสพระบรมราชโองการเท่านั้น (มาตรา 5)